ทัศนศึกษา “ไหว้พระ ชมมรดกโลก ชมโขง และวิถีธรรมชาติ จังหวัด อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย” วันที่ 23 – 26 พ.ค. 2566

วันที่ 1 วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566

           คณะสมาชิกชมรมฯ จำนวน 18 ท่านได้ออกเดินทางเมื่อ 05.30 น. จากสถาบันวิจัยพืชสวน โดยรถตู้ จำนวน 2 คัน รับประทานอาหารเช้าในรถเป็น ข้าวโพด กล้วย เผือก มันม่วงต้ม ดีน่างาดำ น้ำดื่ม ทานสบายๆไปในรถ แวะเข้าห้องน้ำบ้างทุก 1,30 ชั่วโมง จนถึง 12.00-13.00 น รับประทานอาหารกลางวันร้านวรรณาไก่ย่างเขาสวนกวาง จ. ขอนแก่น รสชาติไก่ย่างอร่อยมาก หนังกรอบ เนื้อนุ่ม จากนั้นเดินทางต่อเข้าอุรธานี เวลา 14.00 เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี สร้างขึ้นเพื่อบูชาคุณองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันต์ธาตุ และอัฐิขององค์หลวงตา พระมหาบัวญาณสัมปันโน และเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมเทศนา  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังเป็นทั้งพระสงฆ์และฆราวาสได้รำลึกถึงคุณูปการทั้งทางโลกและทางธรรม  โดยนำเสนอในห้องจัดแสดงจำนวน 6 ห้อง ใช้เวลาบรรยายประมาณ 80 นาที ได้รับความรู้เป็นอย่างมาก จากนั้นได้เก็บภาพความสวยงามและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างสวยงาม และเดินทางเข้าเมืองอุดรธานี เข้าที่พักโรงแรมประจักษ์ตรา อำเภอเมือง จังหวัด อุดรธานี อยู่ใกล้หนองประจักษ์ ช่วงเย็นนั้นนำสมาชิกไปลิ้มรสอาหารเวียดนามที่ร้านวีทีแหนมเนือง สาขาถนนมิตรภาพ และพักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ 2 วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2566 

           คณะตื่นแต่เช้ารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมประจักษ์ตรา มีไข่กระทะ ขนมปังญวน รสชาติดีมาก พร้อมเมนูหลากหลาย จากนั้น7.30 น  ออกเดินทางออกจากโรงแรมที่พัก เดินทางไปคำชะโนด วังนาคินทร์ อำเภอบ้านตุง จ อุดรธานี ระยะทาง 90 กิโลเมตร ใช้เวลา 1.30 ชม เวลา 9.00 น ถึงป่าคำชะโนด สถานที่สวยงามมาก องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้ดำเนินการ มีการบริการดีมาก ให้ข้อมูลบอกจุดที่เราจะต้องสักการะบูชา เนื่องจากคณะไปวันธรรมดา ไม่ต้องมีการนัดหมาย หากเป็นเสาร์อาทิตย์หรือเทศกาลจะต้องลงนัดหมายทางออนไลน์ก่อน ป่าคำชะโนดหรือเมืองชะโนด หรือวังนาคินทร์คำชะโนด เป็นผืนกอวัชพืชขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เกิดจากการทับถมและผสานตัวของซากวัชพืชน้ำจำนวนมาก เป็นระยะเวลานาน จนก่อกำเนิดคล้ายกับเป็นผืนแผ่นดินลอยตัวในรูปแบบเกาะกลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงฤดูฝนในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อ่างเก็บน้ำกุดขามมีปริมาณน้ำสูงขึ้น ป่าคำชะโนดจึงไม่จมน้ำที่ตามระดับน้ำที่สูงขึ้น ภายในป่าคำชะโนดมีพรรณไม้เด่นคือต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม มีความสูงกว่า 30 เมตร เมื่อเข้าไปมีจุดบอกตลอดทาง ได้บูชาเครื่องไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่อาศัยของพญานาคราชปู่ศรีสุทโธและย่าองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี  ซึ่งได้มีศาลสำหรับนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่นบายศรี พวงมาลัย ผลไม้ เป็นต้น มากราบขอพร เสริมทรัพย์ บารมี จากนั้นเดินชมป่าคำชะโนด สวยงามมาก  ออกจากนั้นไปรับประทานอาหารกลางวัน ร้านข้าวหอม อ.หนองหาร จ.อุดรธานี อาหารอร่อยมาก เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ คณะเดินทางต่อไปพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง มรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO และเข้าชมเมื่อเวลา 13.30-14.30 น.  ชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือแหล่งโบราณสถานราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่ได้รับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมับก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 5,000-1,400 ปีมาแล้ว และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีอีกด้วย มีการจัดแสดงวัฒนธรรมบ้านเชียงได้แก่ ภาชนะดินเผา ผ้าและสิ่งทอ อย่างสวยงาม ในพิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดงร้อยเรื่องราวไว้ได้อย่างดี ได้รับความรู้อย่างมาก หลังจากนั้นคณะได้เดินทางต่อไป ชมตลาดผ้าบ้านนาข่า เป็นตลาดประชารัฐที่ต้องชมลำดับที่ 212 ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหมี่ขิดที่มีชื่อเสียงของจ อุดรธานี ก่อตั้งเมื่อ 20 กรกฎาคม 2561 หลังจากได้อุดหนุนกลุ่มทอผ้าแล้ว เดินทางกลับที่พักโรงแรมประจักษ์ตรา และช่วงเย็น รับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม สังสรรค์เฮฮา คาราโอเกะ อย่างสนุกสนาน

วันที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2566

        คณะตื่นแต่เช้ามากเพื่อไปตักบาตร  ณ. วัดป่าบ้านตาด(วัดเกษรศิลคุณ หรือ  หลวงตาบัว ) รถออกจากโรงแรมเวลา 05.00 น. โดยกว่าจะเริ่มตักบาตรก็เกือบ 7.30 น. ทุกคนได้ตักบาตรกับครบถ้วน จากนั้นกลับมาที่พักเพื่อรับประทานอาหารเช้า และเช็คเอ้าท์จากที่พัก ออกเดินทางเวลา 9.00 น. เดินทาไปวัดป่าภูก้อน (ระยะทาง 116 กม).ใช้เวลา 2 ชม.  ถึงวัดป่าภูก้อนเวลา 11.00 น เป็นวัดที่งดงาม ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง  จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อผ่านดิน 3 จังหวัดคืออุดรธานี เลย หนองคาย ได้สร้างเมื่อ 3 กรกฎาคม 2530 และโอกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ได้มีการจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี และวิหารสังฆบิดร ในปี 2554 และมีพิธีสมโภชในปี 2559 คณะได้เข้ากราบสักการะ ขอพร พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี จากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านครัวป้านงค์ ริมโขง อ. สังคม จ. หนองคาย เน้นอาหารปลา มีปลาคัง ที่เป็นที่นิยม และส้มตำจะพลาดได้อย่างไร อาหารแซ่บหลาย เมื่ออิ่มท้องก็เดินทางต่อไปวัดผาตากเสื้อ ตำบลผาตั้ง อ สังคม จ หนองคาย เป็นวัดที่สวยงามบนยอดเขา มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงดงามอย่างมาก สามารถมองเห็นความเป็นอยู่ของชาวไทย-ลาวได้อย่างชัดเจนเลย เพราะสามารถมองเห็นแม่น้ำฝั่งประเทศลาวที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง ที่วัดสามารถเดินชมวิวสะพานกระจก  จากนั้นเดินทางเข้าจังหวัดหนองคาย ชมสะพานมิตรภาพไทย ลาว แล้วไปช้อปปิ้งท่าเสด็จ ริมแม่น้ำโขง เป็นตลาดที่มีสินค้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ผ้าทออีสาน และขนม อาหาร จำหน่าย หลากหลายมาก แต่เนื่องจากไปค่อนข้างเย็นแล้ว ตลาดจะปิดเวลา 17.30 น เราจึงไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านเลอซอง หนองคาย  ริมโขง อาหารอร่อย และได้ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกริมโขง ฟินอย่างแรง ท้องฟ้าสีสวยงามมาก พลบค่ำ เข้าพักโรงแรมอัศวรรณ อ เมือง จังหวัดหนองคายและพักผ่อนตามอัธยาศัย

วันที่ 4 วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566

      คณะตื่นแต่เช้า น่ากลัวคิดถึงบ้าน ลงมารับประทานอาหารกันก่อนเวลา รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมอัศวรรณ เมืองหนองคาย มีเฝอร้อนๆ  ไข่กระทะ ขนมปังญวน และอาหารหลากหลาย อร่อยกันสุดๆ เช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรม ออกเดินทาง ไปไหว้หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย เมื่อเรามาถึงพระกำลังทำวัตรเช้าในโบสถ์  คณะเลยได้สวดมนต์รับพรด้วย ออกจากวัดไปซื้อของฝากร้านแม่ถ้วน เมืองหนองคาย เดินทางออกจากหนองคาย วิ่งมาอุดรประมาณ 1 ชม แวะเก็บตกตลาดผ้าทอบ้านนาข่า อีกรอบ งวดนี้เทกระเป๋ากันเลย จากนั้นนั่งรถยาวๆเลย มารับประทานอาหารกลางวันร้านบะหมี่กวงตัง บ้านไผ่ มีดาวของวงศ์ใน เป็นบะหมี่ทำเอง เป็ดหมูแดง อร่อยมาก รสชาติถูกปากสมาชิก แล้วแวะซื้อของฝากกุนเชียง (ร้านแนะนำเลย) ไม่มัน ของฝาก ที่ร้านลิ้มชินเฮียง  อ บ้านไผ่ ขอนแก่น เดินทางต่อมาถึงโคราช แวะซื้อของฝากอีกครั้งที่ ร้านปึงหงี่เชียง เมืองนครราชสีมา แล้วเดินทางอีก 3 ชั่วโมงกลับถึงฯ สถาบันวิจัยพืชสวน กรุงเทพฯเวลา18.30 น.

ทัศนศึกษา “ไหว้พระ ชมมรดกโลก ชมโขง และวิถีธรรมชาติ จังหวัด อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย”